วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การดูแลวัสดุปลูกและภาชนะปลูกกล้วยไม้


วัสดุปลูกและภาชนะปลูกกล้วยไม้
วัสดุปลูกหรือเครื่องปลูกมีหน้าที่ให้รากเกาะยึดเพื่อให้ลำต้นตั้งตรง ไม่โอนเอนหรือล้ม วัสดุปลูกยังทำหน้าที่สำหรับเก็บความชื้นและธาตุอาหารเพื่อให้รากดูดไปใช้ ขณะเดียวกันวัสดุปลูกก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการระบายน้ำและการถ่ายเทอากาศรอบ ๆ ระบบราก การพิจารณาเลือกวัสดุปลูก (ครรชิต, 2535) ต้องคำนึงถึงคุณสมบัติดังนี้

1. ช่วยให้ระบบรากและต้นกล้วยไม้เจริญงอกงามดี
2. หาได้ง่าย
3. ราคาไม่แพงนัก
4. ทนทานไม่ย่อยสลายเร็วเกินไป
5. ปราศจากสารพิษเจือปน
6. สะดวกต่อการใช้ปลูก

ชนิดและคุณสมบัติของวัสดุปลูกที่ใช้ต้องคำนึงถึงลักษณะการเจริญเติบโตของต้นกล้วยไม้ ซึ่งลักษณะการเจริญเติบโตของต้นกล้วยไม้สามารถจัดได้เป็น 2 ประเภทคือ

1. กล้วยไม้รากอากาศและกึ่งอากาศ กล้วยไม้ประเภทนี้ต้องการวัสดุปลูกที่มีการถ่ายเทอากาศและการระบายน้ำที่ดี โดยเฉพาะกล้วยไม้รากอากาศซึ่งมีรากขนาดใหญ่ ได้แก่ กล้วยไม้สกุลแวนด้า (Vanda spp.) สกุลช้าง (Rhynchostylis spp.) สกุลเข็ม (Ascocentrum spp.) สกุลกุหลาบ (Aerides spp.)ฯลฯ กล่าวคือ ขนาดวัสดุปลูกต้องมีขนาดใหญ่ และไม่อุ้มน้ำมากนัก และถ้าสามารถรดน้ำได้บ่อย ๆ หรือบริเวณที่ปลูกเลี้ยงมีความชื้นสูงพอก็ไม่มีความจำเป็นต้องใส่วัสดุปลูก วัสดุปลูกที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ ได้แก่

1.1 ออสมันด้า เป็นรากเฟิร์นสกุลออสมันด้า มีลักษณะเป็นเส้นฝอย มีข้อดีคือมีการถ่ายเทอากาศและการระบายน้ำดีมากแม้ว่าจะอัดแน่น จึงไม่มีปัญหาเรื่องให้น้ำมากเกินไป เก็บน้ำได้ดีประมาณ 140% ของน้ำหนักตัวเอง มีธาตุอาหารเป็นองค์ประกอบซึ่งรากกล้วยไม้สามารถดูดไปใช้ได้และมีน้ำหนักเบา แต่มีข้อเสียคือ หาได้ยาก ราคาแพง และใช้งานยากเนื่องจากต้องตัดแยกเสียเวลานาน

1.2 ถ่าน เนื่องจากไม่มีแร่ธาตุอื่น ๆ เมื่อนำมาใช้เป็นวัสดุปลูกจึงจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยให้ครบถ้วน แต่ไม่ย่อยสลาย มีน้ำหนักเบา ไม่มีปัญหาเรื่องรดน้ำเนื่องจากระบายน้ำได้ดี

1.3 กาบมะพร้าว ราคาถูก หาได้ง่าย มีข้อเสียคือ ถ้ารดน้ำมากเกินไป จะอุ้มน้ำไว้มาก และอาจทำให้รากเน่าได้ง่าย นอกจากนี้กาบมะพร้าวย่อยสลายเร็วจึงต้องเปลี่ยนวัสดุปลูกบ่อย ๆ

1.4 อิฐหักหรือกระถางแตก เก็บความชื้นได้ดี ไม่ย่อยสลายแต่มีน้ำหนักมาก มักมีปัญหาเรื่องตะไคร่น้ำขึ้นที่ผิววัสดุปลูกและรากกล้วยไม้

1.5 โฟม มีน้ำหนักเบา ไม่อุ้มน้ำแต่ช่องว่างระหว่างก้อนโฟม สามารถเก็บความชื้นได้ดี มีความยืดหยุ่นทำให้ยึดต้นได้ดีไม่โอนเอน
2. กล้วยไม้ดิน พบขึ้นอยู่ตามพื้นดินที่ปกคลุมด้วยอินทรียวัตถุ ดังนั้นจึงใช้ดินร่วมผสมปุ๋ยอินทรีย์และอาจมีถ่านหรืออิฐหักปนบ้านเพื่อให้มีการระบายน้ำดีขึ้น
ภาชนะปลูก
ภาชนะปลูกกล้วยไม้ควรมีขนาดเหมาะสมกับต้นกล้วยไม้ คือ ถ้าต้นมีขนาดเล็กก็ต้องใช้ภาชนะขนาดเล็ก ถ้าใช้ภาชนะใหญ่เกินไปต้นจะเน่าแฉะได้ง่าย นอกจากนี้ถ้าปลูกต้นเล็กในภาชนะขนาดเล็กจะออกดอกเร็วกว่าการปลูกในภาชนะใหญ่ (ครรชิต, 2535)
หลังจากปลูกเลี้ยงกล้วยไม้หลาย ๆ ปี ควรจะเปลี่ยนวัสดุปลูกและภาชนะปลูกใหม่ เนื่องจากต้นกล้วยไม้อาจจะเจริญเติบโตล้นภาชนะปลูกออกมา หรือวัสดุปลูกเก่าผุมีตะไคร่ขึ้นทำให้สะสมโรคและแมลง ต้นกล้วยไม้จะเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร ถ้าได้มีการเปลี่ยนภาชนะปลูกใหม่จะเจริญเติบโตดีขึ้น สำหรับกล้วยไม้สกุลแวนด้า สกุลช้าง และสกุลฟาเลนอปซิส ไม่ควรตัดรากเก่าและไม่ทำให้รากหัก เพราะจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโต ดังนั้นกล้วยไม้กลุ่มนี้จึงไม่ควรเปลี่ยนกระถาง แต่ควรใส่ภาชนะปลูกเก่าซ้อนลงในภาชนะปลูกใหม่ที่ใหญ่ขึ้น (จิตราพรรณ, 2529)
ชนิดของภาชนะปลูกจำแนกได้ดังนี้

1. ปลูกเลี้ยงแบบธรรมชาติ กล้วยไม้รากอากาศและกึ่งอากาศสามารถปลูกโดยมัดรากให้เกาะกับเปลือกท่อนไม้ หรือใช้หมากฝรั่งที่รับประทานแล้วติดลำต้นกับเปลือกท่อนไม้ซึ่งสะดวกและอยู่ได้อย่างถาวร กิ่งหรือลำต้นหลังจากปลูกต้องรดน้ำให้ชื้นเสมอหรือปลูกในช่วงฤดูฝน เพียง 2 – 3 เดือนรากก็จะเจริญยืดยาวไปตามเปลือกไม้และเกาะยึดแน่น จากนั้นจึงเอาเชือกหรือลวดที่รัดรากไว้ออก สำหรับกล้วยไม้ดินก็สามารถปลูกในแปลงดินได้แต่ต้องดูแลเรื่องการระบายน้ำและสามารถควบคุมการให้น้ำได้ เนื่องจากในช่วงพักตัวจะไม่ต้องการน้ำ

2. กระเช้าไม้ ควรใช้กระเช้าไม้สักเนื่องจากมีความคงทนกวาไม้ชนิดอื่น ขนาดของกระเช้าควรเลือกให้เหมาะสมกับขนาดของต้น กระเช้าไม้เหมาะสำหรับกล้วยไม้รากอากาศ เนื่องจากมีความโปร่งจึงระบายน้ำและถ่ายเทอากาศดี อาจใช้ถ่านทุบใส่เป็นวัสดุปลูกเพื่อเก็บความชื้น แต่ถ้าบริเวณที่ปลูกเลี้ยงมีความชื้นเพียงพอ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใส่วัสดุปลูก ส่วนกล้วยไม้รากกึ่งอากาศ เช่น สกุลหวาย(Dendrobium spp.) ประเภทแคทลียา (Cattleya alliance) และสกุลออนซิเดียม (Oncidium spp.) สามารถปลูกในกระเช้าไม้ได้เช่นกัน แต่ต้องมีถ่านทุบใส่เพื่อช่วยเก็บรักษาความชื้นบริเวณราก
ในปัจจุบันมีการผลิตกระเช้าพลาสติกที่มีสีสันให้เลือกหลายสี มีรูปร่างและขนาดใกล้เคียงกับกระเช้าไม้ ซึ่งก็สามารถใช้เป็นภาชนะปลูกได้ดี แต่ความคงทนขึ้นอยู่กับคุณภาพของพลาสติก

3. กระถางดินเผา กระถางที่ใช้กับกล้วยไม้รากอากาศและกึ่งอากาศจะมีการเจาะรูด้านล่างและด้านข้าง เพื่อการระบายน้ำและการถ่ายเทอากาศรอบ ๆ วัสดุปลูก

4. กาบมะพร้าว สามารถตัดเป็นรูปต่าง ๆ ตามความต้องการหรืออาจจะใช้ลูกมะพร้าวทั้งลูก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

 
http://board.212cafe.com/tanatporns